ประเภทผ้าไหมไทย


ประเภทของผ้าไหมไทย หรือ การทอผ้าในแบบต่างๆ

การทอผ้าในประเทศไทยมีมานานหลายร้อยปี ในแต่ละท้องถิ่นมักจะมีลวดลายตามภูมิประเทศของพื้นที่นั้นๆ เช่น ภูเขา ท้องฟ้า ทะเล นำ้ตก และ อื่นๆอีกมากมาย ทำให้เกิดลายผ้าที่หลากหลาย

รูปแบบการทอผ้า

การทอผ้า แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

ลวดลายจากกรรมวิธีการทอ 

เช่น จก , ยก , ขิด , ขัด


ลวดลายจากกรรมวิธีการเตรียมลวดลายเส้นด้ายก่อนทอ

เช่น มัดหมี่


 ลวดลายจากกรรมวิธีการทำลวดลายหลังจากเป็นผืนผ้า

เช่น การย้อม , มัดย้อม


การทอผ้าของ ฉัตรทองไหมไทย หลักๆมีดังนี้

1. การทอขัด


        การทอขัด เป็นวิธีการเบื้องต้นของการทอผ้าทุกชนิด คือมีเส้นพุ่งและเส้นยืนซึ่งอาจเป็นเส้นเดียวกันหรือต่างสีกัน ซึ่งจะทำให้เกิดลวดลายในเนื้อผ้าต่างกัน เช่น การทอเส้นยืนสลับสีก็จะเกิดผ้าลายริ้วทางยาว หรือถ้าทอเส้นพุ่งสลับสีก็จะได้ผ้าลายขวาง การทอเส้นยืนและเส้นพุ่งสลับสีก็จะได้ลายตาราง เป็นต้น ผ้าไหมที่ใช้เทคนิคการทอขัด เรียงตามความหนาของเนื้อผ้า เช่น
        ผ้าไหมหนึ่งเส้น หมายถึง ผ้าไหมที่ขัดด้วยเส้นยืนและเส้นพุ่งเพียงเส้นเดียวไม่ได้มีการควบเส้นใยเพิ่มเข้าไป
        ผ้าไหมสองเส้น หมายถึง ผ้าไหมที่ทอขัดด้วยเส้นยืนเส้นเดียว ส่วนเส้นพุ่งจะมีการควบเส้นไหมเพิ่มเป็นสองเส้น เนื้อผ้าจะมีความหนามากกว่าผ้าไหมหนึ่งเส้น
        ผ้าไหมสี่เส้น หมายถึง ผ้าไหมที่ทอขัดด้วยเส้นยืนเส้นเดียว ส่วนเส้นพุ่งจะมีการควบเพิ่มเป็นสี่เส้น จะได้ผ้าเนื้อหนา
        นอกจากนี้การทอผ้าไหมที่หนามากกว่าสี่เส้นขึ้นไป อาจทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เส้นยืนเพียงเส้นเดียว หรืออาจใช้เส้นพุ่งมากกว่าสี่เส้นก็ได้ ขึ้นกับวัตถุประสงค์และประโยชน์ใช้สอย
        ผ้าทอลายขัดที่เป็นเอกลักษณ์ในกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ ได้แก่ ซิ่นก่าน ซิ่นทิว ซิ่นลายแตงโม ผ้าขาวม้า ผ้าสะมอ ผ้าตาสมุก (ผ้าลายเกล็ดเต่า) ผ้าลายเมล็ดงา เป็นต้น

                         ภาพจาก : https://www.chattongthaisilks.com/blank-8

2. มัดหมี่


        มัดหมี่ เป็นศิลปะการทอผ้าที่เกิดจากการมัดเส้นด้ายหรือเส้นไหม ผูกให้เป็นลวดลายเป็นเปลาะๆ แล้วนำไปย้อมสี ลวดลายที่เกิดขึ้นเกิดจากการซึมของสีไปตามส่วนของเส้นไหมหรือเส้นด้ายที่เว้นไว้ไม่ถูกมัดขณะย้อม เมื่อย้อมสีแล้วแกะเชือกออกจะเกิดเป็นลวดลายตามช่องของการมัดส้นเชือก ดังนั้นหากต้องการมัดหมี่หลายสีก็ต้องทำการมัดย้อมสีหรือเรียก โอบหมี่ โดยมัดเส้นเชือกบริเวณส่วนที่ย้อมแล้วเพื่อรักษาสีที่ย้อมครั้งแรกในบริเวณที่ไม่ต้องการย้อมทับสีใหม่ แล้วนำมาย้อมสีทับหลายครั้งเพื่อให้ได้ลวดลายสีสันตามต้องการ ลักษณะเฉพาะของผ้ามัดหมี่อยู่ที่รอยซึมของสีที่วิ่งตามบริเวณของลวดลายที่ถูกมัด ถึงแม้จะใช้ความแม่นยำในการทอมากเพียงไรก็จะเกิดลักษณะความเลื่อมล้ำของสีบนเส้นไหมให้เห็นแตกต่างกันไป ดังนั้นการมัดหมี่จึงนับเป็นศิลปะบนผืนผ้าซึ่งยากที่จะลอกเลียนให้เหมือนเดิมได้ในแต่ละผืนผ้า
        ลวดลายมัดหมี่ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นลวดลายที่มาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อ เช่น ลายดอกแก้ว ลายต้นสน ลายนาค ลายใบไผ่ ลายโคมห้า ลายขันหมากเป็น (ลายบายศรี) เป็นต้น
        การทอผ้าโดยใช้เทคนิคการทอแบบมัดหมี่เพื่อให้เกิดลวดลายบนผืนผ้านั้นมีอยู่เกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
        เทคนิคการทอผ้าแบบมัดหมี่แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
            1. มัดหมี่เส้นพุ่ง เป็นมัดหมี่ที่มัดย้อมลวดลายเฉพาะเส้นพุ่งเท่านั้น
            2. มัดหมี่เส้นยืน เป็นมัดหมี่ที่มัดย้อมลวดลายเฉพาะเส้นยืนเท่านั้น
            3. มัดหมี่ซ้อนหรือมัดหมี่สองทาง เป็นผ้ามัดหมี่ที่มัดย้อมลวดลายทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน
        ในประเทศไทยมีการทอผ้ามัดหมี่ทั้ง 3 ประเภทแต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทอมัดหมี่เส้นพุ่ง





                       ภาพจาก :https://www.chattongthaisilks.com/mudmee-silk


ยก


        การทอผ้ายกคือ การเพิ่มลวดลายในเนื้อผ้าให้พิเศษขึ้น โดยใช้เทคนิควิธีเก็บตะกอลอย เช่นเดียวกับขิด โดยยกตะกอเพื่อแยกเส้นด้ายยืนครั้งละกี่เส้นก็ได้ตามลวดลายที่วางไว้แล้ว ให้เส้นด้ายพุ่งผ่านไปเฉพาะเส้น เมื่อทอพุ่งกระสวยไปมาครบคู่ไปกับการยกตะกอจะเกิดเป็นลวดลายนูนขึ้นจากผืนผ้า เนื่องจากการยกเป็นการเพิ่มลวดลายเข้าไปพิเศษจึงสามารถเลาะลายออกทั้งหมดโดยไม่เสียเนื้อผ้า ถ้าทอยกด้วยไหมจะเรียก ยกไหม ถ้าทอยกด้วยเส้นทองจะเรียก ยกทอง ถ้าทอยกด้วยเส้นเงินจะเรียก ยกเงิน
        ในประเทศไทยมีแหล่งที่ทอผ้ายกหลายภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ที่จังหวัดลำพูน มีชื่อเสียงและรู้จักกันในนามผ้ายกดอกเมืองลำพูน เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ ภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่รู้จักกันในนามผ้ายกพุมเรียง นครศรีธรรมราช ที่รู้จักกันในนามผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช สงขลา ที่รู้จักกันในนามผ้าทอนาหมื่นศรี เป็นต้น

                         ภาพจาก : https://www.chattongthaisilks.com/blank-7





ข้อมูลอ้างอิงจาก http://qsds.go.th/silkcotton/

โดย : ฉัตรทองไหมไทย

เราเป็นผู้ผลิต และ จำหน่ายผ้าไหมมายาวนานกว่า 100 ปี สืบทอดมายาวนานกว่า 5 รุ่น

ติดต่อ  : 044-284465 , 081-8784285
e-mail : chattong@gmail.com
line @ : thd0967m
face book : Chattong THAI SILK
               : https://www.facebook.com/Chattong-THAI-SILK-439013809779439/?ref=bookmarks
  
ที่อยู่ : 78/1 หมู่ 8 ต.เมืองปัก อ. ปักธงชัย จ. นครราชสีมา 30150

ความคิดเห็น

  1. ผ้าทอนาหมื่นศรีอยู่จังหวัดตรังนะคะ ไม่ใช่สงขลา

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ผ้าไหม คือ

การดูแลผ้าไหม